วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 นายวรวิทย์ โสภาพันธ์ ผอ.สพป.อุบลราชธานี เขต 1 ผู้อำนวยการเขตตรวจราชการที่ 14 เข้าร่วมผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ Zoom Meeting โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรโครงการพาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง (OBEC Zero Dropout) ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ค้นหาเด็กตกหล่นและเด็กออกจากระบบการศึกษากลางคันได้ครบ 100% และเขตตรวจราชการดีเด่นด้านการบริหารจัดการ ภายใต้การนำของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหา “เด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา” และ “เด็กตกหล่น” ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 นำร่องดำเนินการ 7 จังหวัด และในปี พ.ศ. 2566 ขยายพื้นที่ดำเนินการเป็น 13 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภูมิภาค จนเกิดเป็นนโยบาย Thailand Zero Dropout โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ร่วมกับ 10 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในปี พ.ศ. 2568 กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. ได้ต่อยอดต้นทุนการทำงานเดิม พัฒนาเป็นโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” OBEC Zero Dropout ขยายผลดำเนินการครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ และในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง จำนวน 245 เขตทั่วประเทศ สามารถค้นหาเด็กตกหล่นและเด็กออกจากระบบกลางคันได้ครบ 100% จึงได้จัดพิธีมอบใบประกาศนียบัตร ให้กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต (จำนวน 245 เขต) และผู้อำนวยการเขตตรวจราชการดีเด่นด้านการบริหารจัดการ (จำนวน 18 เขตตรวจราชการ) เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป สำหรับการดำเนินงานระยะต่อไป สพฐ. ได้พัฒนาแนวปฏิบัติการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นด้วยแนวทาง “1 โรงเรียน 3 รูปแบบ” สำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสังกัด สพฐ. เพื่อเอื้อให้สถานศึกษาได้พัฒนานวัตกรรมการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อจัดการศึกษาให้เด็กและเยาวชนที่มีเงื่อนไขข้อจำกัดในชีวิตได้ยังคงอยู่ในระบบการศึกษาที่เหมาะสมและตอบโจทย์ชีวิต ได้แก่ นวัตกรรมโรงเรียนมือถือ (Mobile School) นวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ที่ทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้ทุกสถานที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) อีกทั้งเชื่อมโยงการเรียนรู้กับชุมชน ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เรียนผ่านการเก็บ Credit Bank ทำให้เรียนไปพร้อมมีรายได้ (Learn to Earn) ตอบโจทย์ชีวิตผู้เรียน ครอบครัว และชุมชน เพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ในภาพรวมของประเทศอย่างยั่งยืน” ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุมเกียรติอุบล สพป.อุบลราชธานี เขต 1 อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี : ธนิษฐา ศรีอุฬารวัฒน์ – รัชดาภรณ์ มะหิพันธ์ -อนัญญา ศิริโท /ภาพ ข่าว Cr สุชัญญา ขมเทศ